กรมทางหลวง
DEPARTMENT OF HIGHWAYS
ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัยเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ทล. ยกระดับโครงข่ายคมนาคมขยายถนน 7 ช่องจราจร สาย 331 ต่างระดับมาบเอียง - แยกทางหลวงหมายเลข 344 (แยกหนองปรือ) จ.ชลบุรี รองรับปริมาณจราจร หนุนภาคขนส่งท่าเรือแหลมฉบัง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแผนพัฒนา EEC คืบหน้า 75% คาดกุมภาพันธ์ 2565 พร้อมให้บริการตลอดเส้นทาง
ลงวันที่ 19/11/2564

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดและติดตามการก่อสร้างในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อยกระดับโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงกับพื้นที่โดยรอบ เพื่อรองรับนักลงทุนและการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม รองรับการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมการขนส่งระหว่างประเทศและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียนตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล

กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ขานรับข้อสั่งการดังกล่าวจึงได้เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 331 สายต่างระดับมาบเอียง-แยกทางหลวงหมายเลข 344 (แยกหนองปรือ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงในการขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดชลบุรีไปยังท่าเรือแหลมฉบังผ่าน อ.พนัสนิคม และ อ.บ้านบึง ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่นในปัจจุบัน โดยขยายถนนจาก 4 ช่องจราจร เป็น 7 ช่องจราจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของทางหลวงเพื่อให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รองรับการขยายตัวของโครงข่ายด้านคมนาคมในพื้นที่ EEC และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

สำหรับรูปแบบโครงการมีจุดเริ่มต้นอยู่บนทางหลวงหมายเลข 331 ที่ กม.49+511 บริเวณทางแยกต่างระดับมาบเอียง และมีจุดสิ้นสุดโครงการอยู่บนทางหลวงหมายเลข 331 ที่ กม.69+500 บริเวณแยกทางหลวงหมายเลข 344 (แยกหนองปรือ) รวมระยะทาง 19.9 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษจากเดิมขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีเกาะกลางแบบร่อง (Depressed Median) และทำการก่อสร้างคันทางใหม่เป็นถนนผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 3 ช่องจราจร รวมถนนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดขนาด 7 ช่องจราจร (ไป 4 ช่องจราจร และกลับ 3 ช่องจราจร) กว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร มีเกาะกลางเป็นแบบแบบร่อง และก่อสร้างสะพานบกแบบมีจุดกลับรถใต้สะพาน (Underpass U-turn) จำนวน 2 แห่ง ก่อสร้างศาลาทางหลวงบริเวณสองข้างทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนจำนวน 16 แห่ง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง งบประมาณโครงการ 896,900,000 บาท ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้ากว่าร้อยละ 75 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565

เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงและรองรับปริมาณการจราจรภาคขนส่งและระบบโลจิสติกส์ไปยังทางเรือแหลมฉบังจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการ อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับนักลงทุน รองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ EEC เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน


'