กรมทางหลวง
DEPARTMENT OF HIGHWAYS
ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัยเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

โครงการถนนคร่อมคลองประปา

ลงวันที่ 09/04/2561

"...น้ำดีไหล ไม่มีวันเน่า ปัจจุบันเปิดไว้ ความสกปรกเข้าได้เต็มที่ ต้องปิด..."

พระราชดำรัส 20 กันยายน 2544

ช่วงโรงสูบน้ำบางซื่อ - ช่วงโรงกรองน้ำบางเขน

ภาพปัจจุบัน                         ภาพอนาคต

โครงการถนนคร่อมคลองประปา

เป็นโครงการอเนกประสงค์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อให้ศึกษาสภาพคลองประปาในอนาคต เพราะหากชุมชนมีความหนาแน่น น้ำในคลองประปาคงสกปรก หรือขนาดของคลองอาจเล็กเกินไป สมควรศึกษาว่าตามแนวใต้คลองประปาจะสร้างเป็นท่อลำเลียงน้ำขนาดใหญ่ได้หรือไม่ หรืออาจย้ายโรงกรองน้ำสามเสนไปไว้ที่โรงสูบน้ำสำแล เพื่อผลิดน้ำประปาส่งเข้าระบบท่อลอดใต้คลองประปา ส่วนตามแนวคลองประปาหากทำเป็นถนนหรือระบบขนส่งมวลชน 1-2 ชั้น ผ่านตัวเมืองชั้นในออกไปสู่ชานเมืองได้ก็จะเป็นประโยชน์มาก เมื่อ พ.ศ. 2536 กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ขยายถนนเลียบคลองประปา ช่วงหน้าโรงกรองน้ำบางเขน-ถนนเลียบคลองรังสิต เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อเชื่อมต่อกับถนนประชาชื่น และใน พ.ศ. 2538 ในการประชุมโครงการแก้ไขปัญหาจราจรตามแนวพระราชดำริ มีมติระงับโครงการถนนเลียบคลองประปาไว้ก่อน และให้กรมทางหลวงทำการศึกษา เรื่องรูปแบบโครงการถนนคร่อมคลองประปา จากนั้นในเดือนมีนาคม 2539 การประปานครหลวงได้สรุปความเป็นไปได้และผลกระทบของการปิดคลองประปาว่า สามารถทำได้ถ้าจำเป็น แต่จะทำให้คุณภาพของน้ำดิบด้อยลงกว่าปัจจุบันและมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำประปาสูงขึ้น ซึ่งในระหว่างการออกแบบนั้น ได้ขอให้กรมทางหลวงประสานงานกับการประปานครหลวงด้วย

ช่วงคลองบางหลวง - ทางหลวงหมายเลข 347


  
  
ภาพปัจจุบัน                         ภาพอนาคต

             ต่อมาเมื่อ 16 เมษายน 2539 ในพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมว่า ถนนคร่อมคลองประปาควรเป็นลักษณะโครงสร้างคร่อมคลองประปา โดยทั้งหมดเป็นผิวจราจร ไม่จำเป็นต้องมีช่องแสง เพราะน้ำไหล จึงไม่เน่า มีหน้าต่างด้านข้างเปิดปิดได้ ภายในมีช่องทางให้เดินเข้าไปดูแลรักษาคลองประปาอาจทำเป็นลักษณะถนนคร่อมคลอง 2 ชั้น ช่วงจากโรงกรองน้ำสามเสนถึงบางซื่อมีทางด่วนอยู่ข้าง ๆ ต้องปิดให้คลองประปาเป็นอุโมงค์ส่งน้ำเหมือนทุกเมืองในโลก และไม่ควรมีการเวนคืนที่ดินในเดือนพฤษภาคม 2540 กรมทางหลวงได้ดำเนินการออกแบบโครงสร้างคร่อมปิดคลองประปา ที่มีความกว้างของคลอง 34 เมตร โดยมีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เป็นที่ปรึกษา เดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า เศรษฐกิจของประเทศอยู่ระหว่างชะลอตัว เห็นควรให้ระงับโครงการไว้ก่อน กระทรวงคมนาคมจึงสั่งให้ชะลอโครงการนี้โดยให้กรมทางหลวงดำเนินการศึกษาโครงการต่อไป เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อนำกราบบังคมทูล

ต่อมา ในเดือนกันยายน 2542 กรมทางหลวงได้จัดจ้างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เพื่อศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งประกอบด้วย

              - รูปแบบโครงการที่เป็นไปได้ทางวิศวกรรมเบื้องต้น ได้แก่ ด้านจราจร งานทาง ชลศาสตร์ คุณภาพน้ำ โครงสร้าง และการก่อสร้าง

              - งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างสรุปและเสนอแนะในการดำเนินโครงการต่อไป จากนั้น กรมทางหลวงได้ประสานงานกับการประปานครหลวง เพื่อให้โครงการถนนคร่อมคลองประปาเป็นไปตามแนวพระราชดำริ 20 กันยายน 2544

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสในการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้า การก่อสร้างสะพานพระราม 8 ความว่า

             "...บึงมักกะสันน้ำเน่า เพราะไม่ถูกแสงแดด แต่คลองประปาใช้หลักการเดียวกันไม่ได้ เพราะน้ำดีไหล ไม่มีวันเน่า ปัจจุบันเปิดไว้ ความสกปรกเข้าได้เต็มที่ ต้องปิด ทำเป็นอุโมงค์ส่งน้ำเข้ามา... 
"...เดิมทีที่เลิกโครงการ เพราะเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีเงิน ปัจจุบันอยากให้ทำ ประเทศอื่น แหล่งน้ำเอาไว้นอกเมืองแล้วส่งเป็นอุโมงค์เข้ามา ที่ประเทศเราตรงข้าม ให้ฝุ่นตะกั่วลงไป... 
"...ถ้ามีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ ให้ทำน้ำสะอาดก่อนเข้า ต่อไปน้ำจะมาจากเขื่อนป่าสัก คุณภาพน้ำจะดีขึ้น ถ้าเอาน้ำสะอาดเข้ามา ระบบปิดจะไม่เพิ่มความสกปรก กรมทางฯ กับการประปา ลองไปศึกษาให้ดีถ้าระบบเปิดจะเพิ่มความสกปรก ทำถนน 2 ข้างแล้วตรงกลางเป็นคลองประปา ความสกปรกยิ่งเข้ามากขึ้น..."

จากการศึกษาและประสานงานกับการประปานครหลวง พอสรุปรูปแบบโครงการเบื้องต้นเป็น 4 ช่วง คือ

1. ช่วงโรงกรองน้ำสามเสน-โรงสูบน้ำบางซื่อ ระยะทาง 13.1 กิโลเมตร เป็นรูปแบบท่อส่งน้ำดิบด้วยแรงดัน ขนาด 2 เมตร 2 ท่อ และใช้พื้นที่คลองประปาเดิมเป็นช่องจราจรขาเข้าเมือง 
2. ช่วงโรงสูบน้ำบางซื่อ-โรงกรองน้ำบางเขน ระยะทาง 8.6 กิโลเมตร เป็นรูปแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ปิดคร่อมคลองประปาซึ่งลดขนาดคลองเหลือ 12 เมตร โดยใช้พื้นที่ด้านบนเป็นช่องทางรถมวลชน และใช้พื้นที่คลองประปาที่เหลือเป็นช่องจราจรขาเข้าเมือง 
3. ช่วงโรงกรองน้ำบางเขน-คลองบางหลวง ระยะทาง 12 กิโลเมตร เป็นรูปแบบโครงสร้าง คสล. ยกระดับปิดคลองประปา กว้าง 30 เมตร โดยใช้พื้นที่ด้านบนเป็นผิวจราจรขาเข้าและออก 
4. ช่วงคลองบางหลวง-ทางหลวงหมายเลข 347 ระยะทาง 5 กิโลเมตร เป็นรูปแบบถนน 2 ข้าง ขนานกับคลองประปา

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ

            1. ประโยชน์ด้านการประปา 
                 - ได้โรงสูบน้ำบางซื่อใหม่ และเปลี่ยนระบบส่งน้ำช่วงสามเสน-บางซื่อเป็นท่อแรงดัน 
                 - ได้คลองประปาแบบปิด ที่กันความสกปรกเข้าและสามารถเข้าไปดูแลรักษาได้ช่วงบางซื่อ-บางเขน 
                 - ได้ปิดคลองและขยายความจุคลองประปาช่วงบางเขน-คลองบางหลวง 
                 - ได้คันกั้นน้ำท่วม ไม่ให้น้ำเสียไหลลงคลองประปาช่วงคลองบางหลวง-สำแล

            2. ประโยชน์ด้านจราจร 
                 - ทำให้โครงข่ายของโครงการจตุรทิศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 
                 - เสริมและประสานโครงข่ายถนนในพื้นที่ 
                 - ช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรบนเส้นทางตามแนวโครงการ 
                 - ได้ทางรถมวลชนเพื่อเสริมโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน

ส่วนผลกระทบของโครงการ จะทำให้ปริมาณจราจรบนทางด่วนช่วงบางปะอิน-ปากเกร็ดลดลงร้อยละ 20-70 ใน พ.ศ.2549-2554 เพราะโครงการนี้จะตัดกับทางด่วนบริเวณรังสิต อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงจะดำเนินตามรอยพระราชดำริ เพื่อให้โครงการถนนคร่อมคลองประปาประสบความสำเร็จ สมดังพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


'