กรมทางหลวง
DEPARTMENT OF HIGHWAYS
ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัยเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
กรมทางหลวงขยาย ทล.33 บ.ภาชี – บ.หินกอง จ.พระนครศรีอยุธยา 4 เลน แล้วเสร็จ เชื่อมภาคกลาง – ตะวันออก
ลงวันที่ 30/06/2565

กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 33  สาย อ.บางปะหัน – อ.นครหลวง – อ.ภาชี – บ.หินกอง ตอน บ.ภาชี – บ.หินกอง แล้วเสร็จ ระยะทาง 26.72 กิโลเมตร ในพื้นที่ อำเภอนครหลวง, อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ตามนโยบายของ นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร

 

ทางหลวงหมายเลข 33 มีความสำคัญทางด้านการคมนาคม และทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกในประเทศไทย โดยเริ่มต้น จากทางหลวงหมายเลข 340 จังหวัดสุพรรณบุรี ไปสิ้นสุดที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว (เขตแดนไทย/กัมพูชา)  รวมระยะทาง 299 กิโลเมตร  โดยช่วง จ.สุพรรณบุรี – ป่าโมก – ถนนสายเอเชียเป็นทาง 4 ช่องจราจร มีเพียงช่วงเขตบางปะอิน – นครหลวง – ภาชี – หินกอง ที่เป็นทาง 2 ช่องจราจร ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทาง กรมทางหลวงจึงได้ศึกษาถึงความเหมาะสมและความจำเป็นดังกล่าวได้พิจารณาปรับปรุงและกำหนดมาตรฐาน การออกแบบชั้นพิเศษ (4 ช่องจราจร) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทาง

 

โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 33 สาย อ.บางปะหัน – อ.นครหลวง – อ.ภาชี – บ.หินกอง ตอน บ.ภาชี – บ.หินกอง อยู่ในพื้นที่อำเภอนครหลวง, อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เดิมทางสายนี้เป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร ไป – กลับ แต่เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงได้ทำการขยายช่องจราจร โดยก่อสร้าง เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร  ระหว่าง กม.54+273 – กม.81+000 ระยะทาง  26.72 กิโลเมตร ขยายคันทางจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร (ไป - กลับ ข้างละ 2 ช่องจราจร) กว้างช่องละ 3.5 เมตร ผิวทางและไหล่ทางเป็นคอนกรีต  ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบยก พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟสัญญาณจราจร ไฟกระพริบ บนทางหลวงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด งบประมาณ 1,257,757,580 บาท

 

โครงการดังกล่าวเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นทางหลวงที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย เพื่อให้มีประสิทธิภาพสามารถรองรับการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และมีความปลอดภัยในการใช้ทางมากยิ่งขึ้น ช่วยส่งเสริมศักยภาพการกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน กรมทางหลวงขอความร่วมมือผู้ใช้ทางปฏิบัติตาม “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ขับขี่ด้วยความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยของตัวท่านและผู้ร่วมทาง ประชาชนสามารถสอบถามเส้นทางการเดินทางได้ที่ สายด่วนกรมทางหลวง โทร 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)


'