กรมทางหลวง
DEPARTMENT OF HIGHWAYS
ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัยเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
คณะรัฐมนตรี ไฟเขียวเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา “ศักดิ์สยาม” สั่งการด่วน ให้กรมทางหลวงเร่งรัดดำเนินการ เพื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชนโดยเร็ว
ลงวันที่ 07/02/2566

คณะรัฐมนตรี อนุมัติวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติม ในส่วนงานโยธา โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970 ล้านบาท นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กรมทางหลวงเร่งรัดเดินหน้าก่อสร้างส่วนที่เหลืออย่างเต็มที่ โดยเน้นย้ำถึงคุณภาพ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะเปิดทดลองวิ่งช่วงปากช่อง ถึงปลายทางที่เลี่ยงเมืองนครราชสีมา ปลายปี 2566 นี้ และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบพร้อมเก็บเงินค่าผ่าทางในปี 2568

ตามที่กรมทางหลวงได้เริ่มดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา ในส่วนของงานโยธา มาตั้งแต่ปี 2559 โดยแบ่งงานออกเป็น 40 ตอน ปัจจุบัน ก่อสร้างแล้วเสร็จ 24 ตอน ส่วนอีก 16 ตอน ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) สภาพพื้นที่ในสนามที่ทำการก่อสร้างได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 2) ปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพของพื้นที่ในปัจจุบัน 3) ปรับรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างสาธารณูปโภค หรือความจำเป็นของหน่วยงานที่โครงการฯ ตัดผ่าน 4) ปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ และให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนนที่ประชาชนใช้ทางในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องแก้ไขแบบก่อสร้าง ส่งผลให้ค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้น ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ติดตามและเร่งรัดให้กรมทางหลวงแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด

วันนี้ (7 ก.พ. 2566) คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติเห็นชอบเพิ่มวงเงินงบประมาณและขยายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพิ่มเติม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ในส่วนของงานโยธาที่ยังไม่ได้ดำเนินการ จำนวน 12 ตอน วงเงินรวม 4,970.7107 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ตอน 1 กม. 0+000.000 - 7+332.494 วงเงิน 631.2045 ลบ.
- ตอน 2 กม. 0+000.000 – 5+470.673 วงเงิน 70.3000 ลบ.
- ตอน 4 กม. 9+008.350 - 15+000.000 วงเงิน 971.8108 ลบ.
- ตอน 5 กม. 15+000.000 - 27+500.000 วงเงิน 69.1874 ลบ.
- ตอน 18 กม. 72+328.075 – 74+300.000 วงเงิน 271.4985 ลบ.
- ตอน 19 กม. 74+300.000 – 77+000.000 วงเงิน 596.7523 ลบ.
- ตอน 20 กม. 77+000.000 - 82+500.000 วงเงิน 161.7828 ลบ.
- ตอน 21 กม. 82+500.000 - 86+000.000 วงเงิน 1,310.1243 ลบ.
- ตอน 23 กม. 102+000.000 - 110+900.000 วงเงิน 406.2323 ลบ.
- ตอน 24 กม. 110+900.000 - 119+000.000 วงเงิน 26.4170 ลบ.
- ตอน 34 กม. 140+040.000 – 141+810.000 วงเงิน 291.6938 ลบ.
- ตอน 39 กม. 175+100.000 - 188+800.000 วงเงิน 163.7071 ลบ.

โดยทำให้วงเงินค่าก่อสร้าง รวม 40 ตอน เพิ่มขึ้นจากเดิม รวมเป็นจำนวนเงิน 66,165 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบวงเงิน 69,970 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 สำหรับงานก่อสร้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน วงเงินประมาณ 1,785 ล้านบาท นั้น กรมทางหลวง มีความจำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งในส่วนของเนื้องาน และความรับผิดชอบของบริษัทผู้รับจ้างคู่สัญญาให้มีความละเอียดรอบคอบ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมีรองอธิบดีฝ่ายดำเนินงาน เป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านวิศวกรรม ระเบียบ กฎหมาย อาทิ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุด กรมบัญชีกลาง สำนักกฏหมาย กระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ กรมทางหลวงจะเร่งรัดเดินหน้าการก่อสร้างงานโยธาในส่วนที่เหลือให้สามารถเปิดทดลองให้บริการได้โดยเร็วที่สุด โดยคาดว่าจะสามารถเปิดทดลองวิ่ง ช่วงปากช่อง ถึง ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ในช่วงปลายปี 2566 รวมถึงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เพื่อเร่งรัดงานติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง M-FLOW ระบบบริหารควบคุมการจราจร โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบ พร้อมทยอยเปิดทดลองให้บริการได้ในปี 2567 และเปิดใช้บริการเส้นทางอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 ต่อไป


'