กรมทางหลวง
DEPARTMENT OF HIGHWAYS
ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัยเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.

ลงวันที่ 09/04/2561

 หลักการและเหตุผลของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 
        
การให้ประชาชนมีโอกาสกว้างขวางในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆของรัฐเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่ประชาชนจะสามารถแสดง ความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความจริงอันเป็นการส่งเสริมให้มีความเป็นรัฐบาลโดยประชาชนมากยิ่งขึ้น    สมควรกำหนดให้ ประชาชนมีสิทธิได้รู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ   โดยมีข้อยกเว้นอันไม่ต้องเปิดเผยที่แจ้งชัดและจำกัดเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยแล้วจะเกิด ความเสียหายต่อประเทศชาติ หรือต่อประโยชน์ที่สำคัญของเอกชน    ทั้งนี้เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงและจะยังผลให้ประชาชนมีโอกาส รู้ถึงสิทธิ หน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะปกปักรักษาประโยชน์ของตนประการหนึ่งกับสมควรคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ข้อมูลข่าวสารของราชการไปพร้อมอีกประการหนึ่ง

  สิทธิการรับรู้หรือรับทราบข้อมูลข่าวสารของราชการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 
        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๕๘ บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครอง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น   เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย ของประชาชนหรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ 
  
 ข้อมูลข่าวสารของราชการที่ต้องเปิดเผยเป็นการทั่วไป 
ประเภทข้อมูลข่าวสารของราชการ 
         ประเภทข้อมูลข่าวสารของราชการ   ข้อมูลข่าวสาร"   หมายความว่า   สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริง ข้อมูลหรือสิ่งใด ๆ ไม่ว่าจาก สื่อความหมายนั้นจะทำได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเองหรือโดยผ่านวิธีการใด ๆ และไม่ว่าจะได้จัดทำไว้ในรูปของเอกสาร แฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่   ภาพวาด ภาพถ่ายฟิล์ม การบันทึกภาพหรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้สิ่งที่บันทึกไว้ปรากฏได้"ข้อมูลข่าวสารของราชการ" หมายความว่าข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกชน 
ข้อมูลข่าวสารที่ต้องเปิดเผยเป็นการทั่วไป 
        ๑ . ข้อมูลข่าวสารที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา ๗) 
              ( ๑.๑) โครงสร้างและการจัดองค์กรในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐนั้น 
              ( ๑.๒) สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินงาน 
              ( ๑.๓) สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสาร หรือคำแนะนำในการติดต่อกับหน่วยงาน ของรัฐ 
              ( ๑.๔) กฎ มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียน ระเบียบแบบแผน นโยบาย หรือการตีความ   ทั้งนี้ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง 
              ( ๑.๕) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ข้อมูลข่าวสารใดที่ได้มีการจัดพิมพ์เพื่อให้แพร่หลายตามจำนวนพอสมควรแล้ว   ถ้ามีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาโดยอ้างอิงถึงสิ่งพิมพ์นั้นก็ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว 
         ๒ . ข้อมูลข่าวสารที่ต้องลงพิมพ์ตามมาตรา ๗ (๔) แต่ยังไม่ได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา  ( มาตรา ๗)   ได้แก่   ข้อมูลข่าวสารที่ต้อง ลงพิมพ์ตามมาตรา ๗( ๔) ถ้ายังไม่ได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาจะนำมาใช้บังคับในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้ใดไม่ได้   เว้นแต่ผู้นั้นจะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารนั้น ตามความจริงมาก่อนแล้วเป็นเวลาพอสมควร 
        ๓ . ข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด   
( มาตรา ๙)
   ได้แก่ 
              ( ๓.๑) ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน รวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว 
              ( ๓.๒) นโยบาย หรือการตีความที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา ๗ 
              ( ๓.๓) แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีที่กำลังดำเนินการ 
              ( ๓.๔) คู่มือ หรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของเอกชน 
              ( ๓.๕) สิ่งพิมพ์ที่ได้มีการอ้างอิงถึงอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ และวิธีการดำเนินงาน 
              ( ๓.๖) สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ 
              ( ๓.๗) มติคณะรัฐมนตรี หรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย หรือโดยมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้ระบุรายชื่อรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริงหรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการพิจารณาไว้ด้วย 
              ( ๓.๘) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด   ข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการนอกเหนือจากข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ และมาตรา ๙ (มาตรา ๑๑) ๓๑.๕ ข้อมูลข่าวสารที่คัดเลือกไว้ให้ประชาชนศึกษาค้นคว้า   ( เอกสารประวัติศาสตร์) ได้แก่ ข้อมูลข่าวสารของราชการที่ หน่วยราชการของรัฐไม่ประสงค์จะเก็บรักษาไว้ หรือข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา ๑๔ เมื่อมีอายุครบ ๗๕ ปี และข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปี   นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการจัดให้มีข้อมูลข่าวสารนั้นให้หน่วยงานของรัฐส่งมอบให้แก่   หอจดหมายเหตุแห่งชาติ   กรมศิลปากร   หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ประชาชนค้นคว้า ( มาตรา ๒๖) 
        ๔ . ข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการ นอกเหนือจากข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ และมาตรา ๙ (มาตรา ๑๑) 
        ๕ . ข้อมูลข่าวสารที่คัดเลือกไว้ให้ประชาชนศึกษาค้นคว้า ( เอกสารประวัติศาสตร์)
 ได้แก่   ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยราชการของรัฐ ไม่ประสงค์จะเก็บรักษาไว้ หรือข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา ๑๔ เมื่อมีอายุครบ ๗๕ ปี และข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕   เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปี นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการจัดให้มีข้อมูลข่าวสารนั้น ให้หน่วยงานของรัฐส่งมอบให้แก่   หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร   หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ 
ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา   เพื่อให้ประชาชนค้นคว้า ( มาตรา ๒๖)

  ข้อมูลข่าวสารของราชการที่เปิดเผยเป็นการเฉพาะ และไม่ต้องเปิดเผย 
ข้อมูลข่าวสารของราชการที่เปิดเผยเป็นการเฉพาะ 
         ข้อมูลข่าวสารของราชการที่เปิดเผยเป็นการเฉพาะ ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวบุคคล   เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติ   อาชญากรรม หรือประวัติการทำงาน บรรดาที่มีชื่อของผู้นั้น หรือหมายรหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้หมายความ รวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย ( มาตรา ๔ วรรคห้า)    บุคคล   หมายความว่า บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยและบุคคล ธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา ๒๑) 
ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย 
         ๑. ข้อมูลข่าวสารของราชการที่เปิดเผยไม่ได้   ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะเปิดเผยมิได้ ( มาตรา ๑๔) 
         ๒. ข้อมูลข่าวสารของราชการที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ อาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผย ( มาตรา ๑๕) 
โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของประชาชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน 
              ( ๒.๑) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายและความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ 
              ( ๒.๒) การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี   การป้องกัน การปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบหรือการรู้   แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม 
              ( ๒.๓) ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการทำความเห็น หรือคำแนะนำภายในดังกล่าว 
              ( ๒.๔) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด 
              ( ๒.๕) รายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร 
              ( ๒.๖) ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มา   โดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการ นำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น 
              ( ๒.๗) กรณีอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้แต่ต้องระบุ ไว้ด้วยว่าที่เปิดเผยมิได้เพราะเป็นข้อมูลข่าวสาร ประเภทใดและให้ถือว่าการมีคำสั่งเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการเป็นดุลพินิจโดยเฉพาะ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามลำดับสายการบังคับบัญชาแต่ผู้ขออาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ตามที่กำหนด ในพระราชบัญญัตินี้  
  
 หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 
        หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ "หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า ราชการส่วนกลาง   ราชการส่วนภูมิภาคราชการ ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ศาลเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี องค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพหน่วยงานอิสระของรัฐและหน่วยงานอื่น ที่กำหนด ในกฎกระทรวง (มาตรา ๔ วรรค ๓) "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" หมายความว่า ผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานของรัฐ (มาตรา๔) หน่วยงานของรัฐ   และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการและปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้ 
        ( ๑) หน่วยงานของรัฐ ต้องจัดพิมพ์หรือจัดให้มีข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ ไว้ เพื่อให้ประชาชนเข้าตรวจดู แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการจะได้กำหนด (มาตรา ๔๒ วรรค ๒) 
       ( ๒) หน่วยงานของรัฐ ต้องส่งข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่กำหนดในมาตรา ๗ ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาและรวบรวม และจัดให้มีข้อมูลข่าวสารดังกล่าวไว้เผยแพร่ขายหรือจำหน่ายจ่ายแจก ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นตามที่เห็นสมควร (มาตรา ๗) 
        ( ๓) หน่วยงานของรัฐ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการจะวางหลักเกณฑ์เรียกค่าธรรมเนียม เกี่ยวกับขอสำเนาหรือขอสำเนา ที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูล ข่าวสารของราชการก็ได้ ในการนี้ให้คำนึงถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยประกอบด้วย     ทั้งนี้เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติ ไว้เป็นอย่างอื่น 
        ( ๔) หน่วยงานของรัฐ ต้องจัดหาข้อมูลข่าวสารของราชการนอกจากที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาหรือจัดไว้ให้ประชาชนตรวจดู หรือที่จัดให้ประชาชน ได้ค้นคว้า ตามมาตรา ๒๖    ในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามสมควรให้ผู้ขอภายในเวลาอันสมควร    เว้นแต่ผู้นั้นจะขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผล อันสมควร และถ้าข้อมูลข่าวสารของราชการนั้นมีสภาพอาจบุบสลายได้ง่าย หน่วยงานของรัฐจะขอขยายเวลาในการจัดหาให้หรือจะจัดทำสำเนาอย่างหนึ่ง อย่างใด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ข้อมูลข่าวสารนั้น   ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐจัดหาให้ข้างต้น     ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่แล้ว ในสภาพที่พร้อมจะให้ได้ มิใช่เป็นการต้องไปจัดทำ วิเคราะห์ จำแนก รวบรวมหรือจัดให้มีขึ้นใหม่   เว้นแต่เป็นการแปรสภาพเป็นเอกสารจากข้อมูลข่าวสาร ที่บันทึกไว้ในระบบการบันทึกภาพ หรือเสียง ระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบอื่นใด ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการกำหนดแต่ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่ากรณีที่ขอนั้น มิใช่การแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพสำหรับผู้นั้น   หรือเป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะหน่วยงาน ของรัฐจะจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้ก็ได้ บทบัญญัตินี้ไม่เป็นการห้ามหน่วยงาน        ของรัฐที่จะจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการใดขึ้นใหม่ให้แก่ ผู้ร้องขอ   หากเป็นการสอดคล้องด้วยอำนาจหน้าที่ตามปกติของหน่วยงานของรัฐนั้นอยู่แล้ว ให้นำความในมาตรา   ๙ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับ แก่การจัดหาข้อมูลข่าวสารให้ตามมาตรานี้โดยอนุโลม (มาตรา ๑๑) 
        ( ๕) หน่วยงานของรัฐ ต้องแนะนำให้ผู้ขอข้อข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา ๑๑ ที่อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานส่วนกลาง หรือส่วนสาขา ของหน่วยงานแห่งนั้น หรือจะอยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นก็ตาม     ให้ไปยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้น โดยไม่ชักช้าถ้าหน่วยงานของรัฐผู้รับคำขอเห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่มีคำขอเป็นข้อมูลข่าวสารที่จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น และได้ระบุการห้ามเปิดเผยไว้ ตามระเบียบ มาตรา ๑๖ ให้ส่งคำขอให้หน่วยงานของรัฐผู้จัดทำข้อมูลข่าวสารนั้นพิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป 
       ( ๖) หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้ โดยคำนึงถึง การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน   ( มาตรา ๑๕) 
              ( ๖.๑) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ 
              ( ๖.๒) การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ได้ไม่ว่าเกี่ยวกับการฟ้องคดี   การป้องกันการปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบหรือการรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม 
              ( ๖.๓) ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ   รายงานข้อเท็จจริงหรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการทำความเห็นหรือคำแนะนำภายในดังกล่าว 
              ( ๖.๔) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด 
              ( ๖.๕) รายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร 
              ( ๖.๖) ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น 
              ( ๖.๗) กรณีอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ แต่ต้องระบุไว้ด้วยว่า ที่เปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใดและเพราะเหตุใดและให้ถือว่าการมีคำสั่งเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นดุลพินิจโดยเฉพาะของ เจ้าหน้าที่ของรัฐตามลำดับสายบังคับบัญชาแต่ผู้ขออาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติว่าข้อมูลข่าวสารของราชการจะเปิดเผยต่อบุคคลใด ได้หรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขเช่นใดและสมควรมีวิธีรักษามิให้รั่วไหล ให้หน่วยงานของรัฐกำหนดวิธีการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารนั้น ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ   ตาม ( มาตรา ๑๖) 
        ( ๗) เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่า ในกรณีที่การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้ใดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งให้ผู้นั้น เสนอคำคัดค้านภายในเวลาที่กำหนด      แต่ต้องให้เวลาอันสมควรที่ผู้นั้นอาจเสนอคำคัดค้านได้ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง (มาตรา ๑๗)   ผู้ที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งหรือผู้ที่ทราบว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของตนมีสิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูล ข่าวสารนั้นได้โดยทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ ในกรณีที่มีการคัดค้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องพิจารณาคำคัดค้านและแจ้งผลการพิจารณา ให้ผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นมิได้จนกว่าจะล่วงพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา๑๘หรือจนกว่าคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้แล้วแต่กรณี 
        ( ๘) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารใดแม้จะเข้าข่ายต้องมีความรับผิดตามกฎหมายใดให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องรับผิดหากเป็นการกระทำโดยสุจริตใน กรณีดังต่อไปนี้ ( มาตรา ๒๐) 
              ( ๘.๑) ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบ มาตรา ๑๖ 
              ( ๘.๒) ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมีคำสั่งให้เปิดเผยเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะแก่บุคคลใด เพื่อประโยชน์อันสำคัญยิ่งกว่าที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือชีวิต ร่างกายสุขภาพ หรือประโยชน์อื่นของบุคคล และคำสั่งนั้นได้กระทำ โดยสมควรแก่เหต ในการนี้จะมีการกำหนดข้อจำกัด หรือเงื่อนไขในการใช้ข้อมูลข่าวสารนั้นตามความเหมาะสมก็ได้ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารข้างต้นไม่เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐ พ้นจากความผิดตาม กฎหมายหากจะพึงมีในกรณีดังกล่าว 
        ( ๙) หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลดังต่อไปนี้ ตามมาตรา ๒๓ 
             ( ๙.๑) ต้องจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เท่านั้น และยกเลิกการจัดให้มีระบบดังกล่าวเมื่อหมดความจำเป็น 
             ( ๙.๒) พยายามเก็บข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเจ้าของข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จะกระทบถึงประโยชน์ได้เสียโดยตรงของบุคคลนั้น 
             ( ๙.๓) จัดให้มีการพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาและตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้องอยู่เสมอ เกี่ยวกับสิ่งดังต่อไปนี้ 
                 ( ก) ประเภทของบุคคลที่มีการเก็บข้อมูลไว้ 
                 ( ข) ประเภทของระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล 
                 ( ค) ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ 
                 ( ง) วิธีการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของเจ้าของข้อมูล 
                 ( ฉ) แหล่งที่มาของข้อมูล 
            ( ๙.๔) ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในความรับผิดชอบให้ถูกต้องอยู่เสมอ 
            ( ๙.๕) จัดระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ระบบข้อมูลข่าวสารตามความเหมาะสม   เพื่อป้องกันมิให้มีการนำไปใช้โดยไม่เหมาะสมหรือเป็นผลร้าย ต่อเจ้าของข้อมูล ในกรณีที่เก็บข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเจ้าของข้อมูล หน่วยงานของรัฐต้องแจ้งให้ เจ้าของข้อมูลทราบล่วงหน้าหรือพร้อมกับการขอข้อมูล ถึงวัตถุประสงค์ที่จะนำข้อมูลมาใช้ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ และกรณีที่ขอข้อมูลนั้นเป็นกรณีที่อาจให้ข้อมูลได้โดยความสมัครใจหรือเป็นกรณีมีกฎหมาย บังคับหน่วยงานของรัฐต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบในกรณีมีการให้จัดส่งข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไปยังที่ใดซึ่งจะเป็นผลให้บุคคลทั่วไปทราบข้อมูลข่าวสาร นั้นได้ เว้นแต่เป็นไปตามลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ (มาตรา ๒๓) "บุคคล" หมายความว่า บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยและบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา ๒๑) 
        ( ๑๐) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐ แห่งอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง อาจออกระเบียบโดยความ เห็นชอบของคณะกรรมการ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่มิให้นำบทบัญญัติวรรคหนึ่ง (๓) ของมาตรา ๒๓ มาใช้บังคับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานดังกล่าวก็ได้ ( มาตรา ๒๒) หน่วยงานของรัฐแห่งอื่นที่จะกำหนดในกฎกระทรวงนั้น ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการเปิดเผย ประเภทข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง (๓)จะเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการดำเนินการของหน่วยงานดังกล่าว 
        ( ๑๑) หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่น โดยปราศจาก ความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้า หรือในขณะนั้นมิได้ เว้นแต่ (มาตรา ๒๔) 
            ( ๑๑.๑) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของตนเพื่อการนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น 
            ( ๑๑.๒) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเป็นการใช้ข้อมูลตามปกติภายใต้วัตถุประสงค์ของการจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้น 
            ( ๑๑.๓) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลต่อหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านการวางแผน หรือการสถิติ หรือสำมะโนต่าง ๆ ซึ่งหน้าที่ต้องรักษา ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไว้ให้ไม่ให้เปิดเผยต่อไปยังผู้อื่น 
            ( ๑๑.๔) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเป็นการให้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยโดยไม่ระบุชื่อหรือส่วนที่ทำให้รู้ว่าเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ที่เกี่ยวกับบุคคลใด 
            ( ๑๑.๕) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลต่อหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือ หน่วยงานอื่นของรัฐตามมาตรา ๒๖วรรคหนึ่ง   เพื่อการตรวจดูคุณค่าในการเก็บรักษา 
            ( ๑๑.๖) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อการป้องกันการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การสืบสวน การสอบสวน   หรือการฟ้องคดี ไม่ว่าเป็นคดีประเภทใดก็ตาม 
            ( ๑๑.๗) เป็นการให้ซึ่งจำเป็นเพื่อการป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของบุคคล 
            ( ๑๑.๘) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลต่อศาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอข้อเท็จจริง ดังกล่าวกรณีอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตาม (๓) (๔) (๕)(๖)(๗)(๘)และ(๙) ให้มีการจัดทำ บัญชีแสดงการเปิดเผยกำกับไว้กับข้อมูลข่าวสารนั้นตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง 
        ( ๑๒) เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผยรายงานการแพทย์ที่เกี่ยวกับบุคคลใดจะเปิดเผยต่อ เฉพาะแพทย์ที่บุคคลนั้นมอบหมายก็ได้ ถ้ากรณีมีเหตุอันสมควร   ตามมาตรา ๒๕ วรรค ๒ 
        ( ๑๓) หน่วยงานของรัฐต้องส่งมอบข้อมูลข่าวสารของราชการที่ไม่ประสงค์จะเก็บรักษาหรือมีอายุครบกำหนดเวลา คือข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามมาตรา ๑๔ เมื่อครบ ๗๕ ปี หรือมาตรา ๑๕ เมื่อครบกำหนด ๒๐ปี นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการจัดให้มีข้อมูลข่าวสารให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร   หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เพื่อคัดเลือกไว้ให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า ตามมาตรา ๒๖ โดย กำหนดเวลาดังกล่าวอาจขยายออก ไปได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ 
            ( ๑๓.๑) หน่วยงานของรัฐยังจำเป็นต้องเก็บรักษาข้อมูลข่าวสารของราชการไว้เองเพื่อประโยชน์     ในการใช้สอยโดยต้องจัดเก็บและจัดให้ประชาชน ได้ศึกษาค้นคว้าตามที่จะตกลงกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร 
            ( ๑๓.๒) หน่วยงานของรัฐเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการนั้นยังไม่ควรเปิดเผย โดยมีคำสั่งขยายเวลากำกับไว้เป็นการเฉพาะรายคำสั่งการขยาย เวลานั้นให้กำหนดระยะเวลาไว้ด้วยแต่จะกำหนดเกินคราวละห้าปีไม่ได้ การตรวจสอบหรือทบทวนมิให้มีการขยายระยะเวลาไม่เปิดเผยจนเกินความจำเป็นให้   เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงบทบัญญัติตามมาตรานี้มิให้ใช้บังคับกับข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่คณะรัฐมนตรีออกระเบียบ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องทำลายหรืออาจทำลายได้โดยไม่ต้องเก็บรักษา    
        ( ๑๔) หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยินยอมให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายเข้าตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความ ครอบครองของตนได้ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยได้หรือไม่ก็ตาม ( มาตรา ๓๓ วรรค ๒) ในกรณีที่หน่วยงานรัฐปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลข่าวสาร ตามที่มีคำขอไม่ว่าจะกรณี มาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๒๕ ถ้าผู้มีคำขอไม่เชื่อว่าเป็นความจริงและร้องเรียนต่อคณะกรรมการตามมาตรา ๑๓ ให้คณะกรรมการ มีอำนาจเข้าดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องได้ และแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ร้องเรียนทราบตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง

 สิทธิของประชาชนหรือเอกชน ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ 
        พ.ร.บ. นี้ได้กำหนดสิทธิของประชาชนหรือเอกชน ดังนี้ 
          ( ๑) สิทธิในการขอคำปรึกษาการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นหน่วยงานทางวิชาการและธุรการ ให้แก่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ของราชการและคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (มาตรา ๖ ) 
          ( ๒) สิทธิเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารของราชการ บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตามย่อมมีสิทธิเข้าตรวจดู ขอสำเนาหรือ   ขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามมาตรา ๙ ได้ 
          ( ๓) สิทธิขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการนอกจากข้อมูลข่าวสารของราชการที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้วหรือที่จัดไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้แล้ว หรือที่มีการจัดให้ประชาชนได้ค้นคว้าตามมาตรา ๒๖ แล้ว โดยคำขอนั้นได้ระบุข้อมูลข่าวสารที่ต้องการในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามสมควร ตามมาตรา ๒๖ 
          ( ๔) สิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับงานซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องให้กับบุคคลนั้นหรือผู้กระทำแทนได้ตรวจดู หรือได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น ตามมาตรา ๒๕ วรรค ๑ 
          ( ๕) สิทธิในการดำเนินการแทนผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเจ้าของข้อมูลที่ถึงแก่กรรม ตามมาตรา ๒๓เกี่ยวกับการขอ ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลหรือการแจ้งข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไปยังที่ใดของบุคคลดังกล่าว มาตรา ๒๔เกี่ยวกับการให้คำยินยอมให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุม ดูแลข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของตนเปิดเผยข้อมูลต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่นและมาตรา ๒๕ เกี่ยวกับการการได้รู้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน การขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่ไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริงรวมทั้งมีสิทธิอุทธรณ์ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งไม่ยินยอมแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารนั้น ตามมาตรา ๒๕ วรรค ๕ 
          ( ๖) สิทธิในการร้องเรียน ผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๗ หรือไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ ตามมาตรา ๙ หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตนตามมาตราที่ ๑๑ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าหรือเห็นว่าตนไม่ได้รับ ความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้นั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเว้นแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีคำสั่งมิให้เปิดเผย ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ หรือคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านตามมาตรา   หรือคำสั่งไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามมาตรา ๒๕   มาตรา   ๑๓ ๕.๗สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่ง ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารใดตามมาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ หรือมีคำสั่งไม่รับฟัง คำคัดค้านของผู้มีประโยชน์ได้เสียตามมาตรา ๑๗ ผู้นั้นอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร   ภายใน ๑๕ วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งนั้น โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามมาตรา ๑๘

 สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ 
สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
    
           สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานธุรการและวิชาการให้แก่ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและให้คำปรึกษา แก่เอกชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ 
คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ 
          ( ๑) คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประกอบด้วยรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีปลัดกระทรวง กลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกาเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจากภาครัฐและเอกชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกเก้าคนเป็นกรรมการ ( มาตรา ๒๗)ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการของ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คนใดคนหนึ่งเป็นเลขานุการ   และอีกสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ 
          ( ๒) คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (มาตรา ๒๘) 
               ( ๒.๑) สอดส่องดูแลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ 
               ( ๒.๒) ให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ตามที่ได้รับคำขอ 
               ( ๒.๓) เสนอแนะในการตราพระราชกฤษฎีกาและการออกกฎกระทรวงหรือระเบียบของคณะรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัตินี้ 
               ( ๒.๔) พิจารณาและให้ความเห็นเรื่องร้องเรียน (มาตรา 13) 
               ( ๒.๕) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เสนอคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสมแต่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง 
               ( ๒.๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ 
               ( ๒.๗) ดำเนินการเรื่องอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย 
          ( ๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๒๗ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ ตามมาตรา ๒๙ 
          ( ๔) นอกจากพ้นตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๒๗ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ (มาตรา ๓๐) , 
               ( ๔.๑) ตาย 
               ( ๔.๒) ลาออก 
               ( ๔.๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่อง หรือไม่สุจริตต่อ หน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ 
               ( ๔.๔) เป็นบุคคลล้มละลาย 
               ( ๔.๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 
               ( ๔.๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 
          ( ๕) การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม (มาตรา ๓๑)   ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด 
          ( ๖) ให้คณะกรรมการมีอำนาจเรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งวัตถุ เอกสาร หรือพยานหลักฐานมาประกอบคำพิจารณาได้(มาตรา ๓๒) 
          ( ๗) ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลข่าวสารตามที่มีคำขอ ไม่ว่าจะเป็นกรณีตามมาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๒๕ถ้าผู้มีคำขอไม่เชื่อว่า เป็นความจริงและร้องเรียนต่อคณะกรรมการตามมาตรา๑๓ให้กรรมการมีอำนาจเข้าดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องได้และแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ร้องเรียนทราบหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยินยอมให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย เข้าตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของตนได้ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยได้หรือไม่ก็ตาม มาตรา ๓๓ วรรค ๒ 
          ( ๘) คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ และให้นำ ความในมาตรา ๓๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา ๓๒) 
          ( ๙) ในกรณีที่ผู้ร้องเรียนว่าหน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ข้อมูลข่าวสาร ตามมาตรา ๗ ผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ข้อมูลข่าวสาร ตามมาตรา ๗ หรือไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ตามมาตรา ๙ หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตนตามมาตรา ๑๑ หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าหรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้นั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อ คณะกรรมการ เว้นแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ หรือคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านตามมาตรา ๑๗ หรือคำสั่งไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามมาตรา ๒๕


'