กรมทางหลวง
DEPARTMENT OF HIGHWAYS
ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัยเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

โครงการปลูกหญ้าแฝก

ลงวันที่ 09/04/2561

เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขี้น เนื่องจากหญ้าแฝกเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย มีรากที่ยาว แผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ เป็นแผง และง่ายต่อการรักษา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเป็นครั้งแรกให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำการศึกษา ทดลอง และดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและเพื่อประโยชน์อื่น ๆ หน่วยงานทั้งหลายจึงได้รับสนองพระราชดำริตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นผู้ประสานงาน

พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการศึกษาทดลองเกี่ยวกับหญ้าแฝกมีใจความสรุปได้ว่า

1. หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึก แผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ เป็นแผงเหมือนกำแพง ช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษาทดลองปลูก ให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและพื้นที่อื่น ๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง

2. การดำเนินการทดลองการปลูกหญ้าแฝก ให้พิจารณาลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งแบ่งตามลักษณะของพื้นที่ดังนี้

ก. การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขา ให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของความลาดชันและในร่องน้ำของภูเขา เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บความชื้นในดินไว้ด้วย 
ข. การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ราบ ให้ดำเนินการในลักษณะดังนี้ 
- ปลูกโดยรอบแปลง 
- ปลูกลงในแปลง แปลงละ 1 หรือ 2 แนว 
- สำหรับแปลงพืชไร่ ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ 
ค. การปลูกหญ้าแฝกรอบสระน้ำ เพื่อป้องกันอ่างเก็บน้ำมิให้ตื้นเขินอันเนื่องมาจากตะกอนจากการพังทลายของดิน ตลอดจนช่วยรักษาดินเหนืออ่าง และช่วยให้ป่าไม้ในบริเวณพื้นที่รับน้ำทวีความสมบูรณ์ขี้นอย่างรวดเร็ว 
ง. การปลูกหญ้าแฝกเหนือบริเวณแหล่งน้ำ ปลูกแฝกเป็นแนวป้องกันตะกอนดินและกรองของเสียต่าง ๆ ที่ไหลลงในแหล่งน้ำทั้งนี้ให้บันทึกภาพก่อนดำเนินการและหลังการดำเนินการไว้เป็นหลักฐาน

3. ผลของการศึกษาทดลอง ควรเก็บข้อมูลทั้งทางด้านการเจริญเติบโตของลำต้นและราก ความสามารถในการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของดินและการเก็บความชื้นในดินและเรื่องพันธุ์หญ้าแฝกต่าง ๆ

            ด้วยกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ รวมไปถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการชะล้างพังทลายของดินเชิงลาดถนน ได้ร่วมในโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้กำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานด้านบำรุงทางและก่อสร้างทาง โดยเฉพาะทางหลวงที่ตัดใหม่ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินลาดคันทางและลาดเหนือคันทางในสายทางต่าง ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมแผยแพร่ข้อมูลเทคนิควิชาการเกี่ยวกับหญ้าแฝกแก่หน่วยงานในส่วนภูมิภาค และจัดทำวิดีทัศน์โครงการปลูกหญ้าแฝกเกี่ยวกับการประยุกต์ เทคนิควิธีการปลูกหญ้าแฝกในงานทาง


             พื้นที่เป้าหมายใการดำเนินการปลูกหญ้าแฝกของกรมทางหลวงคือ เชิงลาดดินตัดเหนือคันทาง (Back Slope) เชิงลาดดินถมคันทาง (Side Slope) ที่สูงและมีแนวโน้มที่จะเกิดการชะล้างพังทลายของดิน สำหรับสายทางในพื้นที่ ภูเขา ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยดินทรายที่สลายตัวมาจากหินแกรนิตและหินทราย เป็นพื้นที่เป้าหมายเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและการอนุรักษ์ดิน  
 

การปลูกหญ้าแฝกบริเวณเชิงลาดทางมีอยู่ 2 ลักษณะ ขึ้นอยู่กับสภาพความรุนแรงหรือแนวโน้มของการจะเกิดการชะล้างพังทลายของเชิงลาดทางคือ

1. การปลูกในพื้นที่เชิงลาดที่มีแนวโน้มของการเกิดการชะล้างพังทลายของดินต่ำ การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เชิงลาดนี้เป็นรูปแบบการปลูกโดยทั่วไปมีลักษณะการปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวขวางแนวลาดเท โดยมีระยะห่างระหว่างกอกล้าแฝกในแถวอยู่ในช่วง 10 เซนติเมตร และมีระยะห่างระหว่างแถวที่ปลูกตามแนวลาดเท ประมาณ 1.00 เมตร

2. การปลูกในพื้นที่เชิงลาดที่ได้เกิดการชะล้างพังทลายหรือมีแนวโน้มของการเกิดการชะล้างพังทลายของดินสูง การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลักษณะนี้เพื่อลดหรือป้องกันไม่ให้การพังทลายของดินเกิดลุกลามขยายตัวรุนแรงขึ้น หรือเป็นการปลูกในงานก่อสร้างแก้ไขการเคลื่อนตัวของดิน ลักษณะการปลูกจะลดระยะห่างระหว่างกอกล้าแฝกในแถวเป็น 5 เซนติเมตร และมีระยะห่างระหว่างแถวที่ปลูกตามแนวลาดเทประมาณ 50 เซนติเมตร

 

จากการดำเนินการโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกของกรมทางหลวง สามารถสรุปผลการดำเนินการได้ดังนี้

            1. การปลูกหญ้าแฝกบริเวณพื้นที่เชิงลาดถนนสามารถป้องกันหรือลดการชะล้างพังทลายของดินได้ และเป็นวิธีการที่ใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย ราคาถูก ให้ผลทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี 
            2. การป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยการปลูกหญ้าแฝกเป็น "Long Term Stabilized Slope" ในสภาวะที่เหมาะสมหลังการปลูกเป็นเวลาประมาณ 1 ปี หรือ 1 ฤดูฝน หญ้าแฝกจึงจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินได้ เนื่องจากรากจะเจริญเติบโตยาวประมาณ 1 เมตร และกอหญ้าแฝกในแถวจะเจริญเติบโตชิดติดกัน 
            3. ช่วงระยะเวลาการปลูกที่เหมาะสมสำหรับการปลูกหญ้าแฝกเป็นช่วงตันฤดูฝนหรือช่วงระยะเวลาในฤดูฝน 
            4. ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การปลูกหญ้าแฝกประสบผลสำเร็จจ ได้ผลดีมีอัตราการรอดตายสูง คือ ช่วงระยะเวลาการปลูกที่เหมาะสม การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ภาคใต้ได้ผลดี เนื่องจากมีฤดูฝนยาวนานถึง 7 เดือน 
            5. การปลูกหญ้าแฝกในบริเวณลาดดินถมคันทาง (Side Slope) จะได้ผลดี หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตดีกว่าการปลูกบริเวณลาดดินตัดเหนือคันทาง (Back Slope) เนื่องจากสภาพความสมบูรณ์และลักษณะความแน่นของดิน 
            6.หลังการปลูกหญ้าแฝกมีความจำเป็นที่ต้องดูแลรักษา กำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ย เป็นเวลา 1 - 2 ปี 
            7. การปลูกหญ้าแฝกในบริเวณที่มีแนวโน้มที่จะเกิดการชะล้าง พังทลายของดินได้สูงหรือรุนแรงหรือบริเวณที่ได้เกิดการเคลื่อนตัวของดินแล้วให้ลดระยะห่างของการปลูกลงโดยมีระยะห่างระหว่างกอแฝก             5 เซนติเมตร และมีระยะห่างระหว่างแถว 50 เซนติเมตร 
            8. กล้าหญ้าแฝกที่ปลูกควรเป็นกล้าแฝกที่ปลูกชำในถุงพลาสติกที่อภิบาลไว้ก่อนนำไปปลูกประมาณ 45 - 60วัน 
            9. การปลูกหญ้าแฝกในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ภาคเหนือหญ้าแฝกไม่เจริญเติบโตหรือเจริญเติบโตไม่ดี เนื่องจากหญ้าในพื้นที่หรือวัชพืชเจริญเติบโตงอกงามและแพร่พันธุ์ได้เร็วกว่า

            กรมทางหลวงได้นำเทคนิควิธีการหญ้าแฝกมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินเชิงลาดถนนตั้งแต่ พ.ศ. 2536 จนถึงปัจจุบัน และได้มีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้เทคนิคการปลูกหญ้าแฝกในงานทางแก่เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงในส่วนภูมิภาค เพื่อเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงได้มีความรู้เข้าใจถึงประโยชน์ของหญ้าแฝกในการป้องงกันการชะล้างพังทลายของดิน เป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นและประหยัดงบปประมาณด้านบำรุงรักษา โดยได้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ปลูกในสายทางต่าง ๆ ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน ในสายทางพื้นที่ภูเขาภาคเหนือ-ภาคใต้ ในลักษณะที่เป็นงานส่วนหนึ่งซี่งสามารถกระทำได้เป็นปกติ ที่ดำเนินการได้เอง เมื่อเกิดปัญหาในงานบำรุงปกติ งานก่อสร้างแก้ไขการเคลื่อนตัวของเชิงลาด (Slide) ตลอดจนแขวงการทางบางแห่งได้มีการปลูกขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝกสำรองไว้ใช้เอง

            กรมทางหลวงได้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่สายทางงานก่อสร้างทางและงานบำรุงทาง ในแต่ละปีประมาณ 4 ล้าน กล้า เพื่อเป็นการ "ปลูกหญ้าแฝก ปลูกแผ่นดิน" ตามแนวพระราชดำริ


การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบวิธีหญ้าแฝก (VETIVER SYSTEM) 
ในงานทาง เพื่อความยั่งยืน และลดการบำรุงรักษา

            กรมทางหลวงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการนำเทคนิควิธีการปลูกหญ้าแฝกมาใช้ในงานทาง เพื่อลดหรือป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม การป้องกันแก้ไขความเสียหายเชิงลาดทางจากการชะล้างพังทลายของดินในสายทางพื้นที่ภูเขา ตั้งแต่ปี 2536 เนื่องจากหญ้าแฝกมีระบบรากยาว(2.5 – 3 ม.) แผ่กระจายหยั่งลึกสานกันหนาแน่นยึดเม็ดดินไว้ สามารถป้องกันการชะล้างพังทลายและการวิบัติเคลื่อนตัวระดับตื้นของดินเชิงลาดได้ ในแต่ละปี กรมทางหลวงดำเนินการปลูกหญ้าแฝกประมาณ 2.5 – 4 ล้านกล้า และมีโครงการ/กิจกรรมงานด้าน หญ้าแฝกที่ดำเนินงานในรูปคณะกรรมการและคณะทำงานร่วมกับส่วนราชการอื่นๆอยู่ 3 คณะคือ

            1) คณะกรรมการโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นแกนกลางในการประสานงานดำเนินการมี 35 หน่วยงานร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ท่านอธิบดี กรมทางหลวงร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 – ปัจจุบันตามแผนแม่บทการพัฒนา และรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฉบับที่ 1 – 3 (ฉบับที่3 ปี พ.ศ.2546 – 2549) ภายในแผนปฏิบัติการ โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริของกรมทางหลวง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 คือแผนงานการส่งเสริม การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ สายทางพื้นที่ภูเขาที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกประมาณปีละ 2.5 – 3.5 ล้านกล้าประกอบด้วย 
                 - โครงการปลูกหญ้าแฝกงานด้านบำรุงทาง กิจกรรมการปลูกหญ้าแฝกสำนักทางหลวง ประกอบด้วยสำนักทางหลวงที่ 1,2,4,6,9,13,14 และ 15 
                 - โครงการปลูกหญ้าแฝกงานก่อสร้างสายทาง กิจกรรมการปลูกหญ้าแฝก โครงการก่อสร้างศูนย์สร้างทาง ประกอบด้วยศูนย์สร้างทางสงขลา, ขอนแก่น , ลำปางและตาก

            2) คณะทำงานปลูกหญ้าแฝกมูลนิธิโครงการหลวง ดำเนินการตั้งแต่ ก.ย. 2546 – ปัจจุบัน ท่านอธิบดีกรมทางหลวงร่วมเป็นคณะทำงาน ได้รับเงินสนับสนุนการปลูกหญ้าแฝกและศึกษา ในทางหลวงหมายเลข 3272 บ.ไร่ – ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ ปี 2547 – 2549 ประมาณ 3 ล้านบาท และทางหลวงหมายเลข 1265 ตอน อ.ปาย – วัดจันทร์ ศูนย์สร้างทางลำปาง ประมาณ 338,400 บาท ปี 2547 – 2548 ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกประมาณ 6 แสนกล้า

            3) โครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติฯ ประจำปี 2549 – 2550 จัดตั้งเมื่อ 9 พฤษภาคม 2548 ท่านปลัดกระทรวงคมนาคมหรือผู้แทนเป็นกรรมการฯ กรมพัฒนาที่ดินเป็นแกนกลางในการประสานงาน ดำเนินการและให้การสนับสนุนพันธุ์กล้าหญ้าแฝก กระทรวงคมนาคม มอบหมายให้กรมทางหลวง ร่วมดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีแผนงานการปลูกหญ้าแฝกโดยสำนักทางหลวง และศูนย์สร้างทางในปีต่างๆดังนี้ 
                 - ปี 2549 ประมาณ 2,800,000 กล้า 
                 - ปี 2550 ประมาณ 4,500,000 กล้า 
            
             โครงการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบ วิธีหญ้าแฝกในงานทาง เพื่อความยั่งยืน และลดการบำรุงรักษา

             การปลูกหญ้าแฝกในงานทางมีความแตกต่างจากการปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งในความลาดชันของพื้นที่ และปริมาณแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นแก่การเจริญเติบโตของพืช ยิ่งกว่านั้นในบางพื้นที่ หญ้าแฝกไม่เจริญเติบโตหรือตายไม่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ปลูกหลังการปลูก 1-2 ปี โดยจะถูกวัชพืชที่เป็นหญ้าท้องถิ่นซึ่งเจริญเติบโตได้ดีกว่าปกคลุม ทำให้มีความจำเป็นต้องทำการดูแล รักษากำจัดวัชพืช โครงการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบวิธีหญ้าแฝกนี้ ดำเนินการในทางหลวงหมายเลข 3272 ตอนบ้านไร่ – ต่อเขตควบคุมองค์การบริหารส่วนตำบลปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี (รูปที่ 1) กำหนดพื้นที่ปลูก แปลงทดลอง 7 แห่ง รวม 21 แปลงทดลอง ระยะเวลาดำเนินการโครงการฯ ปี 2547 – 2549 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวง 3 ล้านบาท ทำการศึกษาวิจัย 3 ลักษณะ คือ 
               - การศึกษาเปรียบเทียบ วิธีการบำรุงรักษาหลังการปลูก เพื่อหาวิธีการและค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษา 
               - การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการปิดกั้นวัชพืชโดย พืชถั่ว Arachis Pinto เพื่อปรับปรุงรูปแบบการ ปลูกหญ้าแฝกให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเกิดความยั่งยืนคงอยู่ในพื้นที่ โดยการนำพืชที่เป็นประโยชน์และสามารถปลูกร่วมกับหญ้าแฝกได้ดีเช่น ถั่ว Pinto ซึ่งเป็นพืชที่มีลักษณะ เจริญเติบโตเลื้อยแนบติดดินสามารถปิดกั้นวัชพืช มาปลูกระหว่างแถวหญ้าแฝก อันจะเป็นผลให้ลดค่าใช้จ่าย ในการบำรุงรักษาหลังการปลูก(กำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ย) รูปที่ 2 
               - การศึกษาเปรียบเทียบหารูปแบบการปลูกถั่ว Arachis Pinto ที่เหมาะสม เพื่อหาระยะห่างระหว่างกล้าและแถวของการปลูกถั่ว Pinto ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

             ดำเนินการจัดเก็บข้อมูล อัตราการเจริญเติบโต %การรอดตาย ค่าใช้จ่ายในการปลูก การบำรุงรักษา อัตราการปกคลุมพื้นที่โดยวัชพืชและการปกคลุมพื้นที่ปิดกั้นวัชพืชโดยถั่ว Pinto การปลูกหญ้าแฝก ในงานทางให้ได้ผลดีมีความยั่งยืน

             จากการศึกษาพบว่า มีความจำเป็นต้องทำการปรับปรุงดิน โดยการรองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยมูลไก่ หนาประมาณ 2 ซม.(0.6 กก.) หรือใช้ปุ๋ยคอกประมาณ 2 กก.ผสมปุ๋ยเคมีสูตร 15:15:15 หรือ 16:16:16 ประมาณ 60 กรัมต่อความยาวแถวร่องปลูก 1 เมตร กล้าแฝกที่ปลูกควรเป็นกล้าที่เพาะชำในถุงเพาะชำ ที่มีอายุประมาณ 45 – 60 วัน ช่วงระยะเวลาการปลูกที่เหมาะสมเป็นต้นฤดูฝนประมาณ เดือนพฤษภาคม และสำหรับภาคใต้ เดือนพฤศจิกายนสำหรับพื้นที่ฝั่งทะเลตะวันออกและมีนาคมสำหรับฝั่งทะเลอันดามัน รูปแบบการปลูกหญ้าแฝกปลูกระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 1 เมตร ระยะห่างระหว่างกอในแถว 10 ซม. กรณีปลูกในพื้นที่วิกฤต ลดระยะห่างระหว่างแถวลงเป็น 0.5 เมตร ต้องมีการบำรุงรักษาหลังการปลูก 1 – 2 ปี หญ้าแฝกสามารถแตกกอชิดติดกันภายในเวลาประมาณ 4 เดือน พืชถั่ว Pinto มีความเหมาะสมที่ปลูกร่วมกับ หญ้าแฝก และมีประสิทธิภาพสามารถ ปิดกั้นวัชพืชได้โดยปกคลุมพื้นที่ประมาณ 25 – 30 % ภายใน ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน และ 80 – 90 % ภายใน 1 ปี (รูปที่ 3) ทำให้ลดค่าใช้จ่ายความจำเป็นในการ กำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ย รูปแบบการปลูกถั่ว Pinto ที่เหมาะสม คือ 10 X 10ซม. และ 25 X 25 ซม.

             ผลจากการศึกษาจะนำมาปรับปรุง กำหนดอัตราราคาค่างาน รูปแบบการปลูกและปรับปรุงจัดทำ แบบมาตรฐานการปลูกหญ้าแฝกสำหรับงานทางขึ้นใหม่ จัดทำคู่มือการปลูกหญ้าแฝกสำหรับงานทาง อันจะเป็นประโยชน์สำหรับกรมทางหลวง และส่วนราชการวิศวกรรมงานทางอื่นๆ

 

 
รูปที่ 1 การปลูกหญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายและเพิ่มเสถียรภาพเชิงลาดทาง 
ทางหลวงหมายเลข 3272 ตอน บ.ไร่ – ปิล๊อก (อ.ทองผาภูมิ) กม. 15+325 – 15+510  
  
  
   
รูปที่2 การนำพืชตระกูลถั่ว Pinto ปลูกระหว่างแถวหญ้าแฝก 
เพื่อปิดกั้นวัชพืช ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา   
  
  
  
รูปที่ 3 การปิดกั้นวัชพืชของถั่ว Pintoสามารถขึ้นปกคลุมพื้นที่ประมาณ 80 – 90 % ใน 1 ปี  
 

 

 

 

'